รีวิวหนังสือ 7 1/2 Lessons About The Brain

เขียนโดย Lisa Feldman Barrett

บอกเลยว่าใครที่ชอบอ่านแนวจิตวิทยา เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม น่าจะชอบเป็นพิเศษ เพราะมันเป็นความรู้เกี่ยวกับสมองใหม่ที่คนที่ทำงานเค้ารู้แต่กูไม่รู้

ยกตัวอย่างเช่น การแบ่งแยกสมองเป็นสามส่วนว่าสมองส่วนสัตว์เลื้อยคลานที่ตอบสนองต่อสัญชาตญาณ สมองส่วนลิมบิคที่ตอบสนองเรื่องอารมณ์ และ Pre-Frontal Cortex ที่ตอบสนองเรื่องความเป็นเหตุเป็นผล ในทางประสาทวิทยาค้นพบว่าไม่ใช่เรื่องจริง จริงๆ มันเป็นก้อนเดียวกันนั่นแหละที่วิวัฒนาการตามสภาพแวดล้อมเพื่อให้สิ่งมีชีวิตเอาตัวรอดได้

หรืออย่างแนวคิดเรื่อง System 1, System 2 หรือแนวคิดเรื่องสมองซีกซ้ายซีกขวาที่ทำหน้าที่เรื่องเหตุผลและความคิดสร้างสรรค์มันก็เป็นแค่การเปรียบเทียบให้เข้าใจการทำงานของสมองเฉยๆ มันไม่ได้แบ่งได้เป๊ะๆ ขนาดนั้น

คนเขียนบอกว่า สมองนี่ก็เป็นเหมือนนักบัญชีที่คอยคำนวณอยู่เสมอว่าจะใช้พลังงานไปกับเรื่องอะไรให้คุ้มค่าที่สุด ซึ่งปลายทางก็คือเพื่อความอยู่รอด คอยจัดสรรทรัพยากรของร่างกายให้เหมาะกับสถานการณ์ เช่น เมื่อรู้สึกถึงอันตราย หัวใจกะสูบฉีดเลือดเร็ว หายใจแรง สมองก็จะใช้พลังงานเยอะเพื่อสั่งให้ร่ายกายเอาตัวรอดให้ได้

และเค้าก็ชวนมองด้วยว่าไม่ต้องไปเปรียบเทียบสมองมนุษย์กับสัตว์แล้วมองว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ประเสริฐอะไรขนาดนั้น เราทุกคนก็แค่ปรับตัวให้เอาตัวรอดได้ก็เท่านั้น อย่ามั่นหน้า

ส่วนสำคัญที่ทำให้สมองมนุษย์มีความซับซ้อนและคิดเชิงนามธรรมได้ไม่ควรมองแค่ area ของสมอง แต่ให้มองถึงเครือข่ายของเซลล์สมองที่เรียกว่า “นิวรอน” นับ 128,000 ล้านเซลล์ที่เชื่อมและสื่อสารกันเหมือนอยู่ในวงออเคสตร้า เชื่อมประสานด้วย Synapse และสารสื่อประสาทอื่นๆ ที่ช่วยนิวรอนให้ทำงานใน Function ต่างๆ ได้ดีขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่านิวรอนทั้งหมดจะเชื่อมกันทั้งหมด แต่มันจะทำงานเหมือนเป็น Hub เหมือนเป็นสนามบินนานาชาติที่ให้ transit เครื่องไปประเทศอื่นๆ ได้ ถ้าสนามบินนั้นใช้การไม่ได้ ก็จะทำให้ระบบการส่งข้อมูลล่มไปเลย ซึ่งสันนิษฐานว่านี่อาจจะเป็นต้นเหตุของโรคซึมเศร้า จิตเภท บกพร่องอ่านเขียน สมองเสื่อม พาร์กินสัน อะไรก็แล้วแต่ที่มีต้นเหตุมาจากการสั่งงานของสมอง

ส่วนที่ประทับใจเป็นพิเศษคือบทที่ 3 ที่พูดถึงเรื่องพัฒนาการของสมองตั้งแต่เป็นเด็ก ก็เข้าใจมาตลอดตลอดว่าป้อนข้าวป้อนน้ำ ให้นอนเยอะๆ ก็น่าจะพอป่าววะ ทำไมต้องดูแลประคบประหงมอะไรเบอร์นั้น ในเล่มนี้ก็เล่าว่าตัวเด็กเองก็มีการเรียนรู้ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ดูแลนะ และในเชิงของสมองเอง การที่มีผู้ดูแลเนี่ยจะช่วยให้สมองของทารกเซฟพลังงานไว้ใช้กับเรื่องพัฒนาการด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องการเอาตัวรอดด้านการหาอาการหรือการหนีจาดอันตราย เมื่อเทียบกับสัตว์อื่นๆ ที่คลอดหรือฟักปุ๊บแล้วหาอาหารหรือเคลื่อนที่ได้เลย แต่เด็กทารกทำไม่ได้นะ ใครที่มีลูกมีหลานนี่แนะนำให้อ่านบทนี้เป็นพิเศษ เวลาพูดถึงเรื่องพัฒนาการทางสมอง

ซึ่งในบทที่ 3 นี่เองที่เค้าพูดถึงเรื่องว่าการที่มนุษย์เป็นมนุษย์ สื่อสารได้ คิดได้อย่างซับซ้อน ไม่เป็นเพราะเราเกิดมาเป็นแบบนี้ (Nature) หรือเป็นเพราะอิทธิพลของสังคมกันแน่ (Nurture) ซึ่งจะไม่สปอยนะ อยากให้ไปอ่านเอง เปิดโลกมาก

มีบทนึงที่พูดถึงเรื่องการทดลองสั่นกระดิ่งแล้วหมาน้ำลายไหลของพาฟลอฟด้วยว่าเมื่อมองจากมุมของการศึกษาสมองในปัจจุบัน มีอะไรที่เราเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือต่อยอดจากองค์ความรู้ที่มีอยู่ในอดีตบ้าง

โดยรวมแล้วเป้นหนังสือที่อ่านสนุกและอ่านง่ายครับ หมอกิ๊กก็แปลสนุก เพลินๆ อัพเดตความรู้ได้ดีมาก เล่มเล็กๆ 180 หน้า อ่าน 3 วันก็จบสบายๆ เปิดโลกแบบไม่หนักสมองจนเกินไปครับ

ของสำนักพิมพ์ Bookscape ครับ ไปหามาอ่านกันเถอะ แนะนำจริงๆ https://bookscape.co/books/in-stock/science-of-everything/seven-half-lessons-brain

--

--